ในพิธีฉลองเอกราชของประเทศต่างๆ นอกจากจะมีงานรื่นเริงและพิธีอันเป็นมงคลแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในงานคือการอัญเชิญธงของประเทศขึ้นสู่ยอดเสา เป็นการประกาศให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงความมีเอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ สามารถปกครองประเทศชาติของตนได้ด้วยตัวเอง และมีสิทธิเท่าเทียมประเทศเอกราชทั้งหลายในโลก เหตุใดการอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาของประเทศ ที่มีเอกราชใหม่จึงถือว่าเป็นพิธีอันสำคัญยิ่ง คำตอบก็คือ ทั่วโลกได้ยอมรับโดยสอดคล้องต้องกันให้ ธง เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำคัญ และเกียรติยศแห่งชาติ ฉะนั้น ประเทศเอกราชทั้งหลายจึงต้องมี ธงชาติ เป็นสัญลักษณ์แทนประเทศของตน ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศเอกราชใหม่ หรือประเทศที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมีเสถียรภาพ และอธิปไตยยาวนานเพียงใด ธงชาติจะเป็นเครื่องประกาศถึงความเป็นหมู่เหล่า ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน ความเป็นปึกแผ่นของประเทศให้ประจักษ์แก่ชาวโลกทั้งสิ้น
ชาวไทยทุกคนย่อมตระหนักดีว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิของเราเป็นดินแดนที่มี อารยธรรมรุ่งเรืองสืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีความเป็นเอกราชอธิปไตยและบูรณภาพ สามารถจรรโลงและพัฒนาประเทศด้วยตนเอง ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาถึงปัจจุบันด้วยดี จนเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ประเทศไทยมีธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ แห่งเกียรติภูมิของชาติตามหลักของสากลมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและสีหลายครั้ง แต่สีและรูปซึ่งได้รับเลือกให้ประดิษฐานลงในผืนธงชาตินั้น ล้านแต่มีความหมายเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น และที่นับว่าสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขที่เคารพรัก และเทิดทูนยิ่งของชนในชาติเป็นผู้พระราชทานรูปแบบ และสีของธงชาติไทยด้วยพระองค์เองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ระยะแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงสีแดงล้านเป็นธงชาติ สีแดง นั้น หมายถึง ชาติ อันประกอบด้วยแผ่นดินและประชาชาติ เป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีพร้อมเพรียง ความรัก ความอุตสาหะ ความกล้าหาญเสียสละ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเผือกประดิษฐานลงกลางผืนธงสีแดง เรียกว่า ธงช้างเผือก สีแดงของพื้นธงยังคงความหมายเดิม รูปช้างเผือกนั้น นอกจากถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งสิริมงคลอย่างหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติด้วย
เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนลักษณะและสีของธงชาติใหม่เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้ มีความสง่างามและเหมาะสมกับกาลสมัย เหตุเบื้องต้นของพระราชดำริเปลี่ยนแปลงธงชาตินั้น ปรากฏความในหนังสือพระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทในขณะนั้นว่า ขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสจังหวัดอุทัยธานีเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรประดับธงชาติผิด ทำให้ภาพช้างอยู่ในลักษณะนอนหงาย เอาเท้าชี้ขึ้นฟ้า ทำให้สะดุดพระราชหฤทัย จึงได้ทรงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ลักษณะธงชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งมีพระราชดำริว่า “ราษฎรไม่สามารถผลิตธงช้างขึ้นได้เอง ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างจากต่างประเทศ หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรก็สามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดธงผิดพลาด” อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะทรงเก็บรูปช้างไว้หรือจะใช้ธงเป็นแถบสีนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้มี “ประกาศเพิ่มเติมแลแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙” ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ออกบังคับใช้ ในมาตรา ๔ แห่งประกาศฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะธงชาติ ธงค้าขาย และธงนำร่องขึ้น มีความดังนี้
“มาตรา ๔
ข้อ ๑๙ ให้แก้ธงชาติเปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หน้าหันเข้าข้างเสาสำหรับเปนธงราชการ
ข้อ ๒๐ ธงค้าขายรูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ๑/๒ ส่วน มีแถบขาว ๒ ผืน กว้าง ๑/๖ ของส่วนกว้างของธง ทาบภายในติดตามยาวห่างจากขอบล่างแลบนของธง ๑/๖ ของส่วนกว้างของธง
ข้อ ๒๑ เหมือนกับธงค้าขาย แต่มีแถบขาวโดยรอบเปน เครื่องหมายตำแหน่งพนักงานนำร่อง ถ้าเรือลำใดต้องการนำร่องให้ชักธงขึ้นบนเสาน่าเปนสัญญา”
ประกาศได้ระบุไว้ให้ใช้ธงสัญลักษณ์ใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ เป็นต้นไป (เดือนมกราคมถือเป็นปลายปี เนื่องจากเริ่มต้นศักราชใหม่ ๒๔๖๐ ในวันที่ ๑ เดือนเมษายน) จากลักษณะธงตามประกาศจะเห็นว่า มีธงที่ใช้ในลักษณะของธงชาติถึง ๒ ธง คือ ธงชาติรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นสีแดงที่ใช้เป็นธงราชการ กับธงค้าขายริ้วสีแดงสลับขาว ซึ่งจะใช้ประจำเรือของไทยที่เดินทางไปมาในการค้า การกำหนดแบบธงทั้งสองขึ้นใช้ก็เพื่อเปรียบเทียบและทดลองเพื่อหาความเหมาะสม ได้ใช้มาจนกระทั่งเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๐ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ธงไตรรงค์ อันประกอบด้วยสีแดง ขาว และน้ำเงินเป็นธงชาติไทยเพียงแบบเดียว
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกลง พระราชหฤทัยใช้สีน้ำเงินแก่เพิ่มระหว่างกลาง แถบสีแดงขาวนั้น ปรากฏพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ ว่า ได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า อะแคว์ริส ในหนังสือกรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วยมีความโดยย่อว่า “เพื่อนชาวต่างประเทศของผู้เขียน (อะแควริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่ายังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่า ริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วน พระองค์ของพระมหากษัตริย์ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้วธงชาติไทย ก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ๊คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้งสามคงเพิ่มความพอใจประเทศไทยยิ่งขึ้น เพราะเสมือนกับยกย่องเขาทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ใน วาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ด้วย” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมราชวงศ์เฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ รับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาศรีภูริปรีชาร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผลบังคับภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน มีข้อความสำคัญปรากฏตอนต้นพระราชบัญญัติ ดังนี้
“พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชคำนึงถึงการที่กรุงสยามได้ประกาศสงครามจ่อชาติเยอรมัน แลออสเตรียฮังการี เข้าเปนสัมพันธไมตรีร่วมศึกกับมหาประเทศในยุโรป อเมริกา แลอาเซีย ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมาธิปไตยครั้งนี้ นับว่าชาติสยามได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญถึงคั่นอันสำคัญยิ่งแล้ว สมควรจะมีอภิลักขิตวัตถุเพื่อเปนเครื่องเตือนให้ระลึกถึงอภิลัก ขิตสมัยนี้ไว้ให้ปรากฏอยู่ชั่วฟ้าแลดิน
จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง ให้เปนสามสีตามลักษณะธงชาติของประเทศ ที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมากนั้น เพื่อให้เปนเครื่องหมายปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกย์ ให้พินาศประลัยไป
อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ เปนส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ แลให้ใช้ได้ภายหลังวันที่ได้ลงประกาศนี้ ๓๐ วันเปนต้นไป
มาตรา ๒ ให้ยกเลิกข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ ข้อ ๑๙ แลข้อ ๒๐ ในมาตรา ๔ แลยกเลิกมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ซึ่งลงวันที่ ๒ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ กับให้ยกเลิกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธงซึ่งลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙
มาตรา ๓ ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลางมีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยาม อย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆ ของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป
ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้นให้เลิกเสีย”
(สะกดตัวการันต์และวรรคตอนตามต้นฉบับ)
สีของธงไตรรงค์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกนั้น เป็นสีที่มีความหมายลึกซึ้ง มิใช่ว่าให้สอดคล้องกับสีธงของบรรดาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานความหมายของสีธงไตรรงค์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ ดังนี้
“๑๖
ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสามรวมถนัด
ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
แลธรรมะคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษาชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา
ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ”
จากบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวอาจประมวลความได้ว่า สีแดง หมายถึงชาติและความสามัคคีพร้อมเพรียงของคนในชาติ ทุกคนยอมสละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาชาติและศาสนา สีขาว คือความบริสุทธิ์ หมายถึงศาสนาซึ่งเป็นเครื่องอบรมคุณธรรมของคนในชาติ มีหลายท่านที่ได้อ่านบทพระราชนิพนธ์แล้วเข้าใจผิด ตีความคำว่า “พระไตรรัตน์และธรรมะ” ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมายถึงศาสนาพุทธเท่านั้น ซึ่งถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นอัครศาสนูปถัมภก และมีพระวิจารณญาณกว้างไกล ทั้งยังทรงเป็น “พระมหาธีรราชเจ้า” ดังนั้นคำดังกล่าวต้องไม่มีพระราชประสงค์จะให้มีความหมายแคบเพียงศาสนาเดียว คำว่า “ธรรมะ” ที่ทรงใช้ก็ทรงหมายถึง คำสอนและคุณงามความดีของศาสนาอื่นๆ ที่ช่วยขัดเกลาจิตใจของชาวไทยให้เป็นคนดี เพราะการใช้คำสั้นๆ ให้ได้ความหมายกว้างขวาง เพราะทรงตระหนักในพระราชหฤทัยอยู่แล้วว่าประชาชนชาวไทยนับถือหลากหลายศาสนา และศาสนาเหล่านั้นก็มีธรรมะเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนอบรมประชาชน ส่วนสีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ ดังนั้น ธงไตรรงค์หรือธงชาติไทยจึงเป็นศูนย์รวมแห่งสัญลักษณ์ของสถาบันสูงสุดของไทย สมควรได้รับการยกย่องในฐานะปูชนียวัตถุอย่างหนึ่ง ทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงวีรกรรมของบรรพชนที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตสร้างสรรค์ปกป้องเอกราชอธิปไตยและผืนแผ่นดิน ตลอดจนเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติมิให้ถูกอริราชศัตรูเหยียบย่ำทำลาย
นับแต่พุทธศักราช ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ชาวไทยก็เชิญธงไตรรงค์ขึ้นโบกสะบัดอยู่เหนือยอดเสาในแผ่นดินไทยอย่างภาคภูมิ นอกจากชักและประดับธงชาติในประเทศไทยของเราแล้ว ยังมีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาของสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างแดน เชิญขึ้นสู่ยอดเสาในการแข่งขันกีฬานานาชาติตลอดจนการประชุมสัมมนาต่างๆ ระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกเคารพยกย่องธงชาติไทยมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าธงชาติของประเทศอื่นๆ ที่นับว่าควรภาคภูมิใจอย่างยิ่งคือ องค์การสหประชาชาติได้คัดเลือกรูปธงชาติไทยให้เป็น ๑ ในบรรดาธงชาติ ๑๖ ประเทศ ตีพิมพ์เป็นแสตมป์ชุดธงนานาชาติเพื่อออกจำหน่ายทั่วโลก การที่องค์การสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยผู้แทนนานาชาติจำนวนมาก ลงมติดำเนินการดังกล่าวแล้วนี้ย่อมเป็นเครื่องยืนยันอย่างมั่นคงถึงฐานะ เกียรติภูมิและศักดิ์ศรี ของธงชาติไทยตลอดจนประเทศไทยในสายตาของชาวโลกเป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งการที่แสตมป์ภาพธงชาติไทยได้เผยแพร่ไปทั่วโลกนั้น ยังก่อให้เกิดประโยชน์บางประการแก่ประเทศไทยของเราด้วย คือ
๑. เป็นการเผยแพร่ธงชาติไทยและประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกยิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้เห็นภาพที่ปรากฏในแสตมป์แล้ว ย่อมมีผู้สนใจศึกษาความเป็นมาของธงชาติและประเทศเจ้าของธงทุกด้าน ประเทศไทยก็จะเป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แล้ว
๒. การที่ภาพธงชาติไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปนั้น เท่ากับย้ำให้นานาชาติตระหนักในเกียรติภูมิของประเทศไทยยิ่งขึ้น ในฐานะประเทศที่สามารถดำรงรักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพในได้เป็นระยะเวลาอันยาวนาน สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและวิกฤตการณ์เหล่านั้นได้ จนในที่สุดบางประเทศได้ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยอยู่ในขณะนี้ ประเทศไทยยังต้องรับภาระอุปถัมภ์ผู้ที่อพยพเข้ามาพึ่งพิงจากนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณธรรมนี้นานาประเทศทั่วโลกต่างแซ่ซ้องสรรเสริญโดยถ้วนหน้ากัน
๓. เป็นเสมือนเครื่องกระตุ้นเตือนให้ชาวไทยสำนึกถึงความสำคัญแห่งธงชาติของตนยิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์ว่าแม้แต่ต่างประเทศก็ยังเคารพและให้ความสำคัญแก่ธงชาติไทยอย่างแท้จริง ฉะนั้นชาวไทยทุกคนผู้เป็นเจ้าของธงชาติและเจ้าของประเทศ ควรจะร่วมมือกันพิทักษ์ปกป้องรักษาธงชาติไทยอันเป็นเครื่องหมายแทนเอกราชและสถาบันสูงสุดของชาติให้ยั่งยืนตลอดไปตราบจนชีวิตจะหาไม่
การที่เราชาวไทยจะพิทักษ์รักษาธงชาติให้โบกสะบัดอยู่เหนือแผ่นดินไทยตลอดการนั้น คือผลที่มาจากความรักชาติของชาวไทยทุกคน ความรักชาติ หมายถึง ความรักผืนแผ่นดินมาตุภูมิที่อยู่ รักเพื่อนร่วมชาติ ตั้งใจอนุเคราะห์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมทั้งรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม เมื่อประชาชาติเอื้อเฟื้อไม่ประทุษร้ายต่อกัน ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีเคารพกฎหมาย ไม่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือทำลายสิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติ เต็มใจเสียสละเพื่อชาติในโอกาสสมควร เช่น บริจาคเพื่อสาธารณะหรือเสียภาษีอากรตามกำหนดเวลา ท้ายสุดคือป้องกันมิให้ผู้ใดมาทำลายรุกรานเอกราชอธิปไตยของชาติหรือทำลายสถาบันสูงสุดของชาติ ด้วยการกระทำดังกล่าวอันเนื่องมาจากความรักชาตินี้ย่อมส่งผลให้ปรากฏตามที่มุ่งหวัง ดังบทพระราชนิพนธ์ สยามานุสติในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“รักราช จงจิตน้อม ภักดี ท่านนา
รักชาติ กอบกรณีย์ แน่วไว้
รักศาสตร์ กอบบุญตรี สุจริต ถ้วนเทอญ
รักศักดิ์ จงจิตให้ โลกซ้องสรรเสริญ
ยามเดินยืนนั่งน้อม กะมล
รำลึกถึงเทศตน อยู่ยั้ง
เป็นรัฎฐะมณฑล ไทยอยู่ สราญฮา
ควรถนอมแน่นตั้ง อยู่เพี้ยงอวสาน”
การปฏิบัติตนต่อธงชาติ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่คนไทยผู้รักชาติพึงปฏิบัติ เนื่องจากธงชาติเป็นปูชนียวัตถุแสดงสัญลักษณ์แห่งสถาบันสูงสุดของประเทศ การปฏิบัติตนต่อธงชาติจึงจำเป็นต้องกระทำด้วยอาการเคารพ การเก็บรักษาหรือเชิญไปมา ต้องเก็บหรือวางบนพาน มิใช่ถือไปมาด้วยมือ ผู้ทำหน้าที่เชิญธงชาติต้องแต่งกายสุภาพ สภาพของธงชาติที่อัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสาหรือใช้ประดับอาคารสถานที่ทั่วไปควรอยู่ในสภาพดีและเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้อยู่ในสภาพขาดวิ่น หรือมีสีสันซีดจนมองไม่ออกว่าเป็นธงชาติไทย เพราะจะทำให้ขาดความสง่างาม ไม่สมเกียรติแห่งการเป็นธงประจำชาติ เสาธงและสถานที่ประดับธงควรมีลักษณะเชิดชูความสง่างามของธงด้วย นอกจากนี้ ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ ได้ระบุไว้ว่า มิให้ผู้ใดแสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่งหยาบคายต่อธงชาติ หรือแถบธงชาติ และมิให้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายที่ไม่สมควรลงบนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องมีความผิดต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่กรณี ส่วนเพลงชาตินั้น มีระเบียบว่า เมื่อได้ยินเพลงชาติขณะอัญเชิญธงขึ้นหรือลงจากยอดเสา หรือในพิธีใด ให้ทุกคนหยุดยืนตรงเป็นการทำความเคารพต่อเพลงและธงชาติ เมื่อชาวไทยทำความเคารพต่อเพลงและธงชาติเมื่อใด ขอให้รำลึกถึงความหมายที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงชาติและวีรกรรมของบรรพบุรุษไทยในอดีต จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนในความเป็นชาติตลอดจนผืนแผ่นดินไทยยิ่งขึ้น
อ้างอิง : หนังสือวารสารไทย ฉบับ ๑๐๔ ตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๕๐,
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี