ย่างเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งที่เรามักจะพบเห็นอยู่เสมอในฤดูกาลนี้ก็คงเป็นปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ซึ่งระดับความน่ากลัวจะอยู่ที่ปรากฏการณ์สุดท้ายมากกว่า เพราะฟ้าผ่านั้นอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้
เสียงดังเปรี้ยงปร้างจากฟากฟ้า ที่สร้างความสะเทือนลงมายังพื้นดินนั้น แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของลม ฟ้า อากาศ แต่ก็คงสร้างความรู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัวให้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่อากาศร้อนอบอ้าวและส่อเค้าความรุนแรงของพายุมากขึ้นทุกที แต่เรื่องฟ้าผ่าก็ได้มีการผูกเรื่องเข้ากับวรรณคดีเกี่ยวศาสนาพุทธและพราหมณ์มาช้านานแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่านางฟ้าที่ชื่อเมขลา มีแก้วิเศษเป็นอาวุธคู่กาย และมีศัตรูร้ายเป็นยักษ์ชื่อรามสูร เมื่อทั้งคู่เจอหน้ากันทีไรนางเมขลาได้ใช้แก้วอันมีแสงแวววับล่อรามสูร ฝ่ายรามสูรโมโหก็ตอบโต้โดยขว้างขวานใส่เสียงดังเปรี้ยง ๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เมขลาล่อแก้ว” นั่นเอง
หลังจากได้ยินเรื่องฟ้าผ่าแนววรรณคดีมาแล้ว เรามาดูแนววิทยาศาสตร์กันบ้างว่าเขามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ก็จะมีลมและเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า โดยประจุลบส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านล่างของก้อนเมฆ ขณะที่ประจุบวกจะอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ
ทั้งนี้หากประจุลบใต้ก้อนเมฆมีปริมาณมากพอ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆค่อยๆ แตกตัว ประจุลบสามารถวิ่งลงมาด้านล่างและบรรจบกับประจุบวกที่วิ่งขึ้นมา เกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด ฉะนั้นจะเห็นว่าทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ฯลฯ และจุดที่สูงในบริเวณนั้นๆ เช่น ต้นไม้ อาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดที่สามารถยืนยันว่าโทรศัพท์มือถือเป็น สื่อล่อฟ้าได้ แต่เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ควรปิดมือถือเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะฝนตกฟ้าคะนอง นอกจากนี้ยังควรหลีก เลี่ยงการอยู่ในจุดเสี่ยง เช่น ที่โล่งแจ้ง สระน้ำ และอื่นๆ และเมื่อหลบเข้าภายในตัวอาคารแล้ว ก็ควรงดการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งทีวี อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์บ้าน เพราะหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่อุปกรณ์นอกอาคาร อาจจะได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ได้
เมื่อรู้แล้วว่าจุดใดมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า ก็ควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดค่ะ เพราะอย่างน้อยก็ยังช่วยบริหารความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินให้เราได้นะคะ
ที่มา: เอกสารเผยแพร่ความรู้โดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.