วันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีคำขวัญของวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ว่า “Kick the Habit Towards a Low Carbon Economy” มีความหมายว่า “ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิดสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์ร่วมกันลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญที่ทำลายชั้นบรรยากาศ อันส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกที่เรียกกันว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (Greenhouse Effect) ที่เป็น Talk of the World ของชาวโลกในตอนนี้มีสาเหตุมาจากการที่โรงงานต่างๆ ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมามากเกินไป รวมทั้งทำลายชั้นโอโซนต่างๆ ของโลก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการหลักที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นอีก ๔-๕ องศาเซลเซียส นำมาซึ่งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันจนก่อเกิดเป็นมหันตภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังเช่นภาวะน้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือ จนทำให้มีพื้นที่หายไปขนาดเท่ากับรัฐอลาสก้าของประเทศสหรัฐอเมริกา (ประมาณ ๑,๗๑๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) จากอดีตจะเห็นได้ว่า การพยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจกของชาวโลกมีมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การประชุมกรุงเกียวโต เมื่อ ๑-๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมมีมติเห็นความสำคัญและหาแนวทางกู้วิกฤตการณ์เรือนกระจก โดยมีมติให้ประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ร่วมกันลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ

 

ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาได้ออกโรงมาปกป้องโลก ด้วยการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ประชุมกล่าวถึงการออกกฎหมายพลังงานที่เรียกร้องให้โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ หรือพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อื่นๆ ๑๕% โดยคาดว่าจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๐.๕ ตัน

หันกลับมาดูที่ตัวเราเองบ้าง เราทุกคนสามารถลดปัญหาโลกร้อนดังกล่าวด้วยการเลือกใช้พลังงานสะอาด ทราบไหมว่า เพียงแค่คุณลดขยะของตัวเอง ๑๐% จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๕๔๕ กิโลกรัมต่อปี หากคนไทย ๖๐ ล้านคนร่วมกันทำ จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงสามสิบสองตันต่อปี สิ่งที่โลกต้องการในตอนนี้คือความห่วงใยโดยมาร่วมกันปฏิบัติ ตนด้วยการคิดก่อนใช้ตามบทบัญญัติกระบวนการลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ระดมความคิดสรุปเป็นวิธีปฏิบัติง่ายๆ สำหรับในครัวเรือน ที่ทำงาน และชุมชนดังนี้

  • อาบน้ำด้วยฝักบัว ประหยัดกว่าตักอาบหรือใช้อ่างอาบน้ำถึงครึ่งหนึ่ง และปิดน้ำขณะแปรงฟัน ประหยัดน้ำ ได้ถึงเดือนละ ๑๕๑ ลิตร
  • ใช้น้ำร้อนให้น้อยลง เนื่องจากการทำน้ำร้อนใช้พลังงานในการต้มสูงมาก การปรับเครื่องทำน้ำอุ่นให้มีอุณหภูมิ และแรงน้ำให้น้อยลง จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๑๕๙ กิโลกรัมต่อปี หรือการซักผ้าในน้ำเย็นจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ ๒๒๗ กิโลกรัม
  • ใช้หลอดไฟตะเกียบ ช่วยประหยัดกว่าหลอดไฟธรรมดา ๔ เท่า และใช้งานได้นานกว่า ๘ เท่า โดยหลอดไฟ ตะเกียบแต่ละหลอดช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๔,๕๐๐ กิโลกรัม ในขณะที่หลอดไฟธรรมดาจะกินพลังงานมากกว่าหลอดตะเกียบ โดยเปลี่ยนพลังงานไปเป็นแสงไฟไม่ถึง ๑๐% ส่วนที่เหลือถูกเปลี่ยนไปเป็นความร้อน เท่ากับสูญพลังงานเปล่าๆ มากกว่า ๙๐%
  • ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะหากยังเสียบไว้ กระแสไฟยังคงเดินอยู่ และควรถอดปลั๊กที่ชาร์จโทรศัพท์ มือถือและ MP3 เมื่อไฟเต็มแล้ว
  • ใช้ตู้เย็นแบบ ๒ ประตู ขนาดความจุ ๔๐๐ ลิตร ตั้งอุณหภูมิที่ ๓-๕ องศาเซลเซียส และ -๑๗ – -๑๕ องศาเซลเซียสในช่องแช่แข็ง ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดไฟมากที่สุด
  • เปิดเครื่องปรับอากาศที่ ๒๕ องศาเซลเซียส หากลดอุณหภูมิต่ำกว่านี้จะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ๕-๑๐%
  • ใช้แล็บท็อปจอแบน ประหยัดไฟมากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะถึง ๕ เท่า การที่พักหน้าจอด้วย screen server หรือตั้งอยู่ในหมวดสแตนบายด์ไม่ได้ช่วยประหยัดไฟ ส่วนเรื่องการปิดเปิดเครื่องเมื่อหยุดใช้งานนั้น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทคได้ทำการทดสอบแล้ว ให้คำอธิบายว่าถ้าเป็นการหยุดใช้งานชั่วคราวไม่นาน การเปิด-ปิดเครื่องอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะการเปิดเครื่องใหม่ทำให้เปลืองไฟฟ้ามากกว่า นอกจากนี้ยังมีทางเลือกในการประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่งคือ เนื่องจากในระบบปฏิบัติการวินโดวส์มีทางเลือกในการประหยัดพลังงานให้อยู่แล้ว คือ ฟังก์ชั่น Power Options ซึ่งอยู่ใน Control Panel ซึ่งจะมีโหมดจัดการพลังงานอยู่ ๔ โหมด ทั้ง ๔ โหมดจะเริ่มทำงานเมื่อไม่มีการใช้งานในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ผู้ใช้เครื่องจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวก่อน
  • พกถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการใช้ถุงพลาสติก
  • ใส่เสื้อผ้าฝ้ายออร์แกนิค ไม่ย้อมสีเคมี
  • กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะการผลิตเนื้อสัตว์ใช้พลังงานและทรัพยากรมากกว่าการปลูกพืชและธัญพืช เนื่องจาก ๑๘% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั่นเอง
  • ลดการใช้รถยนต์ การทิ้งรถไว้ที่บ้านแม้เพียงสัปดาห์ละ ๑ วันสามารถประหยัดน้ำมันและลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกได้มากมายภายใน ๑ ปี เนื่องจากยานยนต์เป็นตัวการใช้น้ำมันหลักของโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง ๑ ใน ๔ ส่วน
  • เช็คลมยางให้แน่ใจว่า ยางรถสูบลมแน่นระดับพอดี การขับรถโดยที่ยางมีลมน้อย ทำให้เปลืองน้ำมันขึ้นจาก ปกติถึง ๓% น้ำมันทุกๆ แกลลอนที่ประหยัดได้ จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๙ กิโลกรัม ยางที่สูบลมไม่พอจะใช้น้ำมันได้ในระยะทางสั้นลง ๕%
  • รีไซเคิลให้มากขึ้น การลดขยะภายในบ้านให้ได้ครึ่งหนึ่ง จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๑,๐๘๙ กิโลกรัมต่อปี
  • เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นแบบหลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๗๐ กิโลกรัมต่อปี
  • ปิดทีวี เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เมื่อไม่ใช้งาน ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายตัน ต่อปี
  • ใช้กระดาษให้คุ้มค่า
  • ลดการใช้ถ่าน เพราะถ่านส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานที่ไม่นานนักก็กลายเป็นขยะ ซึ่งถ่านนี้ก็มีคาร์บอน ประกอบแถมยังเป็นขยะอันตรายที่กำจัดได้ยาก
  • นอนแต่หัวค่ำ เมื่อนอนเราก็จะหยุดพฤติกรรมในการใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้เร็วขึ้น
  • ร่วมใจกันปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก ต้นไม้ ๑ ต้น จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๑ ตัน ตลอดชีวิตของมัน

กระแสโลกร้อนปลุกให้คนทั่วโลกตื่นตัว กลัวการเผา ผลาญเชื้อเพลิง กลัวภาวะน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ภาวะวิกฤตสิ่งแวดล้อม และอีกนานาภาวะที่ส่งผลกระทบสู่ปรากฏการณ์เรือนกระจก ดังนั้นการสร้างเกราะป้องกันภัยโลกร้อน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี รวมทั้งกระบวนการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวมานี้ จึงเป็นกลยุทธ์ที่ชาวโลกต้องขานรับอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ก็เพื่อร่วมมือกันกู้โลกให้พ้นจากภาวะวิกฤต ลดอุณหภูมิให้โลกร้อนคืนสู่สภาพโลกเย็น ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อลูกหลานของเรา มิใช่หรือ